การทำฟันให้ปลาปักเป้า เพื่อให้สามารถกินอาหารได้ปกติ

สุขภาพฟันถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจดูแลให้ดี ๆ โดยเฉพาะฟันแท้ เพราะถ้ามันหลุดไปนั่นหมายความว่ามันจะไม่งอกขึ้นมาอีกแล้วนะ ดังนั้นคุณควรหาเวลาไปพบหมอฟันเพื่อให้ได้รับการตรวจสุขภาพฟันอย่างน้อยปีละหนึ่ง หรือจะมากกว่านั้นตามคำแนะนำของคุณหมอก็ได้

วันนี้ เบาสมอง จะเอาเรี่องฟันมาให้คุณอ่าน แต่มันไม่ใช่ฟันของมนุษย์นะ เพราะมันคือฟันของปลาปักเป้า เรื่องมันเริ่มจากที่ มาร์ค เบียท วัย 64 ปีเจ้าของปลาปักเป้าที่ชื่อว่า โกลดี้ ซึ่งตอนนี้มีอายุได้ 5 ปีแล้ว เขาสังเกตเห็นความผิดปกติในการกินอาหารของ โกลดี้ จึงได้ไปปรึกษาหมอฟันว่าสามารถช่วยเหลือมันได้หรือไม่?

สัตวแพทย์ แดเนียล คัลโว การ์ราสโก้ ได้ให้คำแนะนำกับ มาร์ค เบียท ว่า ” โดยปกติแล้วฟันของปลาปักเป้าหรือที่เรียกว่าจะงอยปาก มันจะเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของพวกมันอยู่แล้ว “

ปกติแล้วปลาปักเป้าในธรรมชาติฟันของมันจะสั้นอยู่แล้ว เพราะใช้ในการกัดอาหารที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอยที่มีเปลือก หอยทาก กุ้ง เป็นต้น แต่เมื่อมันถูกเอามาเลี้ยงนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันของมันยาวกว่าปกติ เพราะไม่ต้องกัดกินอาหารที่แข็ง จนทำให้จะงอยปากบนของ โกลดี้ ขยายไปถึงจุดที่ขัดขวางความสามารถในการกินของตัวเอง

เมื่อได้สาเหตุของปัญหาแล้วสิ่งที่ยากกว่านั้นก็คือ ขั้นตอนในการรักษาเพราะอย่างที่เรารู้ดีอยู่คือถ้าปลาปักเป้าตกใจมันจะพองตัวใหญ่และมีหนามไปทั่วทั้งตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้

สัตวแพทย์ แดเนียล คัลโว การ์ราสโก้ และผู้ช่วย เด็บบี้ แอดดิสัน จึงได้เริ่มขั้นตอนด้วยการวางยาสลบปลาที่ได้รับอนุญาตในการรักษาลงในน้ำ จากนั้นก็ใช้เครื่องออกซิเจนช่วย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ โกลดี้ ยังคงหายใจได้สบาย และสามารถอุ้มขึ้นจากน้ำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยไม่เครียดจนเกินไป

จากนั้นก็ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำหมาด ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวมันแห้งหรือกระตุ้นกลไกการป้องกันจนทำให้เกิดการพองตัว ขั้นตอนทั้งหมดดำเนินไปอย่างราบรื่นและดำเนินการภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง โดยปราศจากความเครียดใด ๆ เลย จากนั้นโกลดี้ก็กลับบ้าน และกินอาหารได้ดีภายในสองชั่วโมง

ที่เรานำบทความนี้มาฝากเพราะเห็นว่ามันแปลก ไม่ค่อยได้พบเจอกันบ่อย ๆ ขนาดปลาปักเป้ายังต้องดูแลฟัน ดังนั้นเราก็ควรใส่ใจเรื่องฟันให้ดีเหมือนกันนะ

ขอบคุณที่มา dailymail | เรียบเรียงโดย เบาสมอง