หอยทากเกราะเหล็ก สิ่งมีชีวิตสุดถึกที่อาศัยอยู่ใกล้กับภูเขาไฟใต้ทะเล

เชื่อว่าหลายท่านคงทราบกันดีว่าในปัจจุบันมนุษยชาติสามารถทำการสำรวจทะเลได้เพียงแค่ 5-7% เท่านั้น เทียบกับอัตราส่วนต่อมหาสมุทรเพียง 1% จากมหาสมุทรทั้งหมด นั่นหมายความว่ายังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายที่มุนษย์เรายังไม่เคยพบเห็นและอาจถูกซ่อนอยู่ในใต้ทะเลที่ลึกลงไป ดังนั้นคุณอย่าเพิ่งรีบตัดสินว่าตำนานสัตว์ประหลาดที่ถูกกล่าวขานแห่งท้องทะเลเป็นเรื่องโกหก เพราะมันอาจจะมีอยู่จริงก็ได้

วันนี้ เบาสมอง จะพาทุกท่านไปรู้จักกับหอยทากชนิดหนึ่งที่ต้องบอกก่อนว่าพวกมัน อึด ถึก ทน ต่อความร้อนเป็นอย่างมาก มันมีชื่อเรียกว่า ” หอยทากภูเขาไฟ ” หรือ ” หอยทากเกราะเหล็ก “ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ” Chrysomallon squamiferum ”

มันเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปล่องน้ำร้อนใต้ทะเล หรือปล่องไฮโดรเทอร์มอล (hydrothermal vents) ในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean) ซึ่งอยู่ลึกลงไปถึง 2,400 ถึง 2,900 เมตร

” หอยทากภูเขาไฟ ” หรือ ” หอยทากเกราะเหล็ก ” ถือเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่มีธาตุเหล็กรวมอยู่ในโครงกระดูก เปลือกนอกของพวกมันถูกปกคลุมด้วยชั้นของเหล็ก เท้าเนื้อนุ่มนิ่มที่ยื่นออกมาจากใต้เปลือกหอย ได้รับการคุ้มครองโดยเกล็ดแร่หนักที่ทำจากเหล็กซัลไฟด์

ความลึกลับของหอยทากที่อาศัยอยู่ในภูเขาไฟและเปลือกเหล็กของมันถูกคลี่คลายโดยทีมงานของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง (HKUST) หลังจากที่จีโนมของมันถูกถอดรหัสเป็นครั้งแรก

นักวิจัยได้รวบรวมหอยทากที่มีเกล็ดประมาณ 20 ตัว จากระดับความลึกความลึกของน้ำทะเล 2,900 เมตรในมหาสมุทรอินเดีย

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความอดทนนี้ช่วยให้หอยทากสามารถอยู่รอดได้เมื่อไอออนของเหล็กในสภาพแวดล้อมของพวกมันทำปฏิกิริยากับกำมะถันในเกล็ดของพวกมัน ทำให้เกิดเหล็กซัลไฟด์

ซึ่งเปลือกหอยเหล่านี้นั้น หนาถึง 3 ชั้น ซึ่งประกอบไปด้วยชั้นนอกสีดำหนา 30 ไมโครเมตรที่สร้างขึ้นจากเหล็กซัลไฟด์ ที่มี Greigite Fe3S4 ส่วนเกราะชั้นกลางจะเหมือนกับหอยทากชนิดอื่น ๆ ที่มีสีน้ำตาลความหนา 150 ไมโครเมตร และชั้นในสุดทำจาก Aragonite ที่อยู่ในรูปแคลเซียมคาร์บอเนตหนา 250 ไมโครเมตร ที่พบในหอยและปะการังทั่วไป

ไม่ใช่ว่าเจ้าหอยทากนี้สามารถผลิตแร่ธาตุต่าง ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่มันทำการนำแร่ธาตุที่พบได้เป็นจำนวนมากในพื้นที่ปล่องน้ำร้อนนี้ ดูดซับเข้ามาในร่างกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้เปลือกนั่นเอง

พวกมันมีความทนต่ออุณหภูมิต่ำ, ความดันสูง, ความเป็นกรดสูงและออกซิเจนต่ำมันเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่รู้จักกันในการรวมเหล็กเข้ากับโครงกระดูกของมัน

อีกทั้งภายในร่างกายของมันยังมีแบคทีเรียซิมไบโอติค (Symbiotic) ที่คอยผลิตอาหารให้ โดยไม่จำเป็นต้องหาอาหารเองอีกด้วย ซึ่งเป็นการอาศัยซึ่งกันและกันนั่นเอง

นอกจากนี้ ลำดับยีนของหอยทากยังคงแทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอดวิวัฒนาการ โดยมีเกล็ดคล้ายเกราะที่พบได้ทั่วไปในหอยทากเมื่อ 540 ล้านปีก่อน

ด้วยสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด(ประมาณ 400 องศาเซลเซียส) ในบริเวณพื้นที่ปล่องไฮโดรเทอร์มอล จึงทำให้พวกมันหลุดพ้นจากการคุกคามของสัตว์ชนิดอื่น และมีชีวิตที่สุขสบาย

ขอบคุณที่มา dailymail , mirror | เรียบเรียงโดย เบาสมอง